Health
มัจจุราชเงียบ!! พิษร้ายติดเครื่องยนต์นอนในรถ ถ้าไม่ตายก็กลายเป็นผัก (อธิบายไว้ดีมากๆ)
Friday, October 23, 2015เป็นเรื่องน่าเศร้าที่กลายเป็นอุทาหรณ์ สำหรับ การเปิดแอร์นอนในรถแล้วเกิดควันพิษจากรถรั่วเข้าไปในห้องโดยสาร กระทั่ง สูดก๊าซพิษ เข้าไปในร่างกายกระทั่งเสียชีวิต เหตุที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเกิดขึ้นมาแล้วอย่างต่อเนื่อง และด้วยเหตุนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะตีแผ่สิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อเตือนใจผู้ใช้รถให้ระมัดระวัง เพราะผลของสูดก๊าซพิษนี้มีโอกาสรอดน้อยมาก...
ย้อนเหตุการณ์โศกนาฏกรรมบนหน้าหนังสือพิมพ์
เหตุการณ์ 2 แม่ลูก เสียชีวิตในพื้นที่ สน.โชคชัย ไม่ใช่เคสแรกที่เกิดขึ้น เพราะหากย้อนไป วันที่ 17 ก.พ.2542 บริเวณปั๊มแห่งหนึ่ง ริมถนนสายกระทิง-ระยอง ในรถปิกอัพยี่ห้อหนึ่งก็พบศพ 2 คือ นายเฉลิมพันธ์ สมงาม และ นางจุรีย์ สมงาม สามี-ภรรยา ซึ่งต่อมาทราบว่าฝ่ายชายเป็นพนักงานการบินไทย อายุ 30 ปี ส่วนภรรยาเป็นแอร์โฮสเตส ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจคาดว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดมาจากสูดดมคาร์บอนมอนอกไซด์
1 ต.ค.50 เป็นกรณีรถแท็กซี่ จอดในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งย่านคลองหลวงแบบข้ามวันข้ามคืน ในที่เกิดเหตุพบรถแท็กซี่ สีเขียวเหลือง สภาพใหม่ ป้ายแดงทะเบียน ว-3927 ในรถพบผู้เสียชีวิต 2 ศพ ที่นั่งคนขับคือนายสมัยศักดิ์ เสาร์แก้ว อายุ 45 ปี พื้นเพชาวอุบลราชธานี ส่วนอีกรายคือ นางอุทัยวรรณ เตโพธิ์ อายุ 40 ปี ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่คาดว่า ทั้งคู่อาจจะเผลอหลับขณะติดเครื่องยนต์และเปิดแอร์ไว้ กระทั่งแก๊สหมด ระบบแบตเตอรี่ถูกตัด ทำให้ไม่มีอากาศหมุนเวียนในรถกระทั่งเสียชีวิต
8 ก.ย.51 เกิดเรื่องเศร้าอีกครั้ง เมื่อนายธวัช ทิตย์รัตน์ อายุ 40 ปี นายก อบต.นากอก เจ้าของรถปิกอัพยี่ห้อหนึ่ง ได้ลืม น้องฟิวส์ เด็กหญิงวัย 3 ขวบ ซึ่งเป็นลูกของเพื่อนบ้านไว้ในรถโดยจอดติดเครื่องไว้หน้าร้านขายของชำ จากนั้นก็เข้าไปประชุม กระทั่งเย็นก็ออกมาพบศพในสภาพนอนถอดเสื้อ ในมือขวากอดขวดน้ำดื่ม 3 ขวด สภาพศพน่าเวทนาเกินจะบรรยายได้ คาดว่าก่อนเสียชีวตต้องเจอกับสภาพร้อนจัดจนน้องได้ถอดเสื้อเอง กระทั่งขาดอากาศหายใจ
กูรูยานยนต์อธิบายสาเหตุใหลตาย
อ.พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ อธิบายถึงการเสียชีวิตจากการปิดกระจก เปิดแอร์นอนในรถว่า เวลาเครื่องยนต์ทำงานก็จะมีขยะออกมา ขยะดังกล่าวคือ "ไอเสีย" ซึ่งมีทั้งมองเห็นและมองไม่เห็น ส่วนที่มองไม่เห็นคือ คาร์บอนมอนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ และอื่น ๆ ส่วนก๊าซที่ทำให้คนตายก็คือ คาร์บอนมอนอกไซด์ เป็น ก๊าซไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เป็นก๊าซที่ลอยขึ้นสูงตลอดเวลา
เวลาเครื่องยนต์ทำงาน ก๊าซเหล่านี้จะไหลออกมาตลอดเวลาจาก 2 ทาง คือ 1. ท่อไอเสีย 2.อาจจะลอยอยู่ในห้องเครื่อง ทั้งนี้ ห้องโดยสารของรถ หากมีรูรั่วมากก๊าซก็จะรั่วเข้าไปในตัวรถ ส่วนท่อไอเสีย หากสังเกตดูก็จะทราบว่าท่อจะไม่ยื่นออกจากตัวรถมาก เห็นว่าจะยื่นออกมาเล็กน้อย 3-5 นิ้วเท่านั้น แล้วปลายจะงุ้มลงดินนิดๆ เวลาติดเครื่องเบาๆ ควันก็จะลอยอวนอยู่ใต้ท้องรถ ที่สำคัญ ก๊าซ สามารถแทรกซึมได้ดีกว่าน้ำ และสารชนิดอื่นๆ ประจวบกับก๊าซดังกล่าว อาจจะเล็ดลอดเข้ามาทางอื่น เช่น ด้านหน้ากระโปรงรถ หากช่องแอร์รั่วก็เข้าทางช่องแอร์ แต่โดยทั่วไปแล้วจะไม่เข้ามาทางช่องแอร์
มัจจุราชเงียบมาพร้อม 2 ปัจจัย
“พอเข้ามาในรถมากๆ คนที่หลับแล้ว ก็จะมีโอกาสตาย ที่เขาเรียกว่า “ใหลตาย” แต่การจะตายหรือไม่ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ 1.การเผาไหม้สมบูรณ์หรือไม่ ถ้าสมบูรณ์ เขม่า และไอเสียต่างๆ ก็จะมีน้อย 2.ถ้าห้องโดยสารมีรอยรั่วน้อย โอกาสควันเข้ามาก็น้อย ในทางทฤษฎี ผมไม่ได้บอกว่าข้อบกพร่องดังกล่าวขึ้นอยู่กับรถเก่าหรือใหม่ ถ้ารถเก่าแต่ผู้ใช้รักษาดี มีการเผาไหม้สมบูรณ์ อุดรูรั่วดี โอกาสเกิดก็น้อย แต่ในทางปฏิบัติเรื่องแบบนี้มีโอกาสเกิดขึ้นกับรถเก่ามากกว่า”
คนไทยบางส่วนใช้รถแบบมักง่าย โทษดวง ไม่หาสาเหตุข้อบกพร่อง
ผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ กล่าวต่อว่า แท้จริงแล้วรถทุกคันมีรูรั่วที่ระดับอากาศเข้าได้ ทั้งนี้ เวลานำรถเข้าศูนย์ซ่อม ช่างก็จะไม่ได้ตรวจให้ ยกเว้นเสียแต่ว่าจะของรถจะอยากให้เช็ก เช่น เวลาขับรถแล้วมีกลิ่นจากภายนอกเข้ามา เรื่องแบบนี้ส่วนตัวคิดว่าคนไทยมีความตื่นตัวน้อยมาก บางทีขับรถแล้วได้กลิ่นเข้ามามากๆ ยังไม่นำรถไปซ่อมเลย
“เวลาเกิดอุบัติเหตุแล้ว คนไทยมักไม่คิดตามหลักวิทยาศาสตร์ หากคิดตามหลักวิทยาศาสตร์เราจะมุ่งหาสาเหตุว่ามันเกิดอะไร แต่...คนไทยมักจะคิดว่า “ดวงซวย” ทำไมเราโยนความผิดให้กับอะไรก็ไม่รู้ เพราะคิดแบบนี้ทำให้กระบวนการแก้ไขไม่บังเกิดผล” กูรูยานยนต์ กล่าวเตือนสติ
สถานที่จอดรถมีผลต่อการถูกลมก๊าซ
ถ้าเป็นที่อับลม ก๊าซไม่ถูกพัดไปที่ไหน มันก็จะดันเข้ามาในตัวรถ แต่ถ้าเป็นที่ลมโกรก โดนลมพัดมันก็เจือจาง แต่หากเราขับรถอยู่ รถติดกลางถนน ก๊าซพวกนี้ก็ยังมีอยู่ แต่จะมีผลมากตอนที่เราหลับเพราะเราไม่รู้ตัว แต่ถ้าอยู่ในรถหรือบนท้องถนน เราสูดก๊าซเข้าไปมาก ๆ เราจะรู้สึกอึดอัด เราอาจจะแก้ด้วยการเปิดประตูรถ ให้อากาศเข้ามา เพราะฉะนั้น หากเราเจอรถติดส่วนมากเราจะรู้สึกซึม ง่วงเหงาหาวนอน แต่ก็ไม่ทำให้ถึงตาย
ไขข้อข้องใจ ทำไมรถติดอยู่บนถนน คนขับถึงไม่เสียชีวิต
อ.พัฒนเดช อธิบายในเรื่องนี้ว่า กรณีปิดสนิทแบบว่าอากาศภายนอกและภายในเข้าและออกไม่ได้เลย แล้วรถวิ่งอยู่นั้น เมื่อเราหายใจเข้าเอาออกซิเจนเข้าไปและคลายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา เมื่อเราหายใจเข้าไปมากๆ เข้า ออกซิเจนก็เหลือน้อย เราก็จะเกิดอาการง่วง แต่เรื่องแบบนี้ผู้ที่ออกแบบรถเขารู้อยู่แล้ว หากสังเกตดูจะทราบว่ารถแพงๆ เขามีการออกแบบระบบตัดเอาอากาศภายนอกเข้ามา เช่น บางทีเรานั่งๆ อยู่ จะได้กลิ่นภายนอกเข้ามา แต่คนไทยมักอ้างว่าบ้านเราเมืองร้อนก็เลยไปปิดระบบนี้ อย่างไรก็ดี เวลาขับรถอยู่ หากมีอาการง่วงๆ เพลียๆ ก็มักจะจอดรถหรือเปิดอากาศให้เข้ามา ส่วนเวลารถติด ถามว่า คาร์บอนมอนอกไซด์ เข้ารถเราหรือไม่ คำตอบก็คือเข้า แต่หากว่ารถเคลื่อน ก๊าซที่อยู่ใต้รถก็จางไป อีกอย่างเรารู้ตัวอยู่ มันจึงทำให้ไม่ถึงตาย
ก๊าซพิษ...คาร์บอนมอนอกไซด์ เพชฌฆาตคร่าชีวิต
นพ.สมชาย แสงกิจพร ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุขให้ความรู้ในเรื่องนี้ว่า ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ เกิดจากการสันดาป เผาไหม้ ซึ่งประกอบด้วย คาร์บอน และออกซิเจน ทั้งนี้ สารทุกอย่างที่เผาไหม้ได้จะต้องมีคาร์บอนเป็นส่วนประกอบ และมีก๊าซออกซิเจนช่วยให้เกิดการเผาไหม้ การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์จะทำให้เกิดคาร์บอนมอนอกไซด์ แต่ถ้าเผาไหม้สมบูรณ์ก็จะเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ คือ มีออกซิเจน 2 ตัว
ลักษณะพิเศษของ คาร์บอนมอนอกไซด์ คือ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เรามองไม่เห็นมัน แต่ที่จริงแล้วมันหนักกว่าอากาศ ถ้าอยู่ในที่ปิดทึบ เช่นในรถ หากมีคาร์บอนมอนอกไซด์มันจะเข้าไปทดแทนอากาศ เนื่องจากมันหนักกว่าอากาศ มันก็จะไล่อากาศออกไป เมื่อสูดดมเข้าไปมันจะเข้าไปจับกับเม็ดเลือดแดง ซึ่งเม็ดเลือดแดงจะเป็นตัวนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงทั่วร่างกาย โดยอวัยวะที่สำคัญที่สุด คือ สมอง หากสมองขาดออกซิเจน เพียง 3 นาที สมองก็ตายแล้ว
เวลาออกซิเจนจับกับเม็ดเลือดแดง เมื่อไปถึงอวัยวะสำคัญเม็ดเลือดแดงจะปล่อยออกซิเจนให้เนื้อเยื่อได้ใช้ จากนั้นร่างกายของเราก็ขับของเสียออกมา คือ คาร์บอนไดออกไซด์ เม็ดเลือดแดงก็จะนำพาออกมา โดยถูกขับออกมาทางปอด
ถ้ามีคาร์บอนมอนอกไซด์เข้ามาในร่างกาย มันก็จะจับกับเม็ดเลือดแดง แต่จับแล้วไม่ปล่อย เม็ดเลือดแดงก็จับออกซิเจนไม่ได้ เท่ากับร่างกายขาดออกซิเจน ถึงแม้จะมีเลือดแดงไหลเวียนแต่ก็นำออกซิเจนไม่ได้ สมองก็ขาดออกซิเจนจนหมดสติ พอสมองไม่ทำงานอีกไม่กี่นาทีหัวใจก็หยุดใต้จากนั้นก็จะเสียชีวิต
“ยกตัวอย่าง เช่น หากในพื้นที่นั้นเต็มไปด้วยคาร์บอนมอนอกไซด์ เราเดินเข้าไปในพื้นที่นั้น ไม่เกิน 5 นาที ก็ตาย เพราะเม็ดเลือดแดงถูกคาร์บอนมอนอกไซด์จับหมด สิ่งแรกที่เกิดคือ “สมองไม่ทำงาน” จากนั้นร่างกายส่วนอื่นก็ค่อยๆ ตาย”
ตารางระดับเข้มข้น คาร์บอนมอนอกไซด์ ไม่ใช่ค่ามาตรฐาน!
ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ อธิบายถึง ตารางระดับความเข้มข้นที่มีการเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต เป็นจริงแค่ไหน...?
ที่เผยแพร่ในโลโซเชียลระบุว่า
ระดับความเข้มข้น 50 ppm ถึง 200 ppm อาการปวดศีรษะเล็กน้อยและอ่อนเพลีย
ระดับความเข้มข้น 200 ppm ถึง 400 ppm อาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรงและอาจถึงขั้นเป็นลม
ระดับความเข้มข้นประมาณ 1,200 ppm อาการ หัวใจเต้นเร็วขึ้นผิดปกติและเริ่มเต้นผิดจังหวะ
ระดับความเข้มข้นประมาณ 2,000 ppm อาการ อาจถึงขั้นหมดสติและอาจถึงเสียชีวิต
“ตารางดังกล่าวเป็นค่าถูกผสมในอากาศ ไม่ได้เป็นค่ามาตรฐาน เพราะการทดลองนี้ไม่สามารถทำได้ ส่วนอาการดังกล่าว จะขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคนที่แข็งแรงไม่เท่ากัน เช่น ชายหนุ่มที่สุขภาพแข็งแรง เม็ดเลือดแดงดี ก็จะทนได้นานกว่า เด็ก หรือ คนชรา"
ทั้งนี้ ค่าวัดดังกล่าวเกิดจากการสังเกตเท่านั้น โดยผู้ที่วัดค่านี้เกิดจากนักผจญเพลิงเข้าไปในตัวอาคาร ค่าวัดที่ได้เท่านี้ เขารู้สึกเวียนหัว ค่าประมาณนี้ เขารู้สึกจะหมดสติ เป็นต้น
ดับเครื่องยนต์ กระจกปิดสนิท ผลคือ ตายเหมือนกัน!
นอกจากนี้ นพ.สมชาย ยังกล่าวถึงกรณีรถปิดสนิทและไม่ได้สตาร์ตเครื่องแต่ปิดกระจก ว่า เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนคนอยู่ในกล่องเล็กๆ ออกซิเจนถูกใช้ไปเรื่อยๆ จนหมด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เองก็จับเม็ดเลือดแดงเหมือนกัน แต่จับแล้วปล่อยบ้าง อย่างไรก็ตาม หากออกซิเจนมีต่ำกว่า 16% ร่างกายจะเริ่มเวียนศีรษะ ขณะเดียวกัน ร่างกายก็ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ออกมาเรื่อย ๆ หากใช้ออกซิเจนหมด แม้เม็ดเลือดแดงจะนำออกซิเจนได้ แต่ภายในไม่มีออกซิเจนให้นำ ก็ตายอยู่ดี
โอกาสรอดน้อย หากไม่ตายอาจจะกลายเป็นผัก
นพ.สมชาย กล่าวต่อว่า หากเกิดเหตุการณ์คาร์บอนมอนอกไซด์รั่วเข้าตัวรถ ส่วนใหญ่จะทำการช่วยเหลือไม่ทัน เพราะแค่ 3 นาที ก็ทำให้เสียชีวิตได้ เรียกว่าโอกาสรอด “น้อยมาก” แต่ถ้าเขายังไม่ตายคือหายใจปกติ วิธีช่วยก็ง่ายมากคือการเปิดประตู ดับเครื่องยนต์ นำคนออกนอกรถ เช็กว่าเขายังหายใจอยู่หรือไม่ ถ้ายังหายใจปกติก็พยายามปลุกให้เขาตื่น หากเขาตื่นก็ถือว่า “รอด”
“แต่ถ้าหยุดหายใจก็ต้องใช้วิธีกู้ชีพตามขั้นตอน A B C คือ Airway เช็กทางเดินหายใจเปิดโล่งหรือไม่ มีลิ้นตกกันหลอดลมหรือไม่ เอามือล้วงปากดูว่ามีอะไรอุดกั้นหรือไม่ Breathing เช็กการหายใจ และ CAB ปั๊มหัวใจ แต่อย่างที่บอก ส่วนใหญ่ที่ประสบเหตุลักษณะนี้จะไม่รอด เพราะหากอากาศหมดภายใน 3 นาที สมองจะตาย สมมติว่ามีเหตุคนไข้สูดดมคาร์บอนมอนอกไซด์ไปครึ่งชั่วโมง สมองตาย แม้ร่างกายยังหายใจ หัวใจยังเต้นอยู่ เพราะร่างกายบางคนยังอึด แต่เมื่อนำร่างออกมา สมองก็ไม่ฟื้น เราจะเรียกอาการแบบนี้ว่าเหมือนผัก หรือ กลายเป็นเจ้าชายนิทรา”
ที่มา:http://www.siamupdate.com/news-177974
0 comments