Health
สธ.ยัน!! ไทยยังไม่พบ"ไข้เลือดออก"สายพันธุ์ใหม่ เผยไร้วัคซีนป้องกัน แนะปชช.ดูแลตัวเองไม่ให้ยุงลายกัด
Wednesday, November 11, 2015"กระทรวงสาธารณสุข" เผย !! "โรคไข้เลือดออก" ปีนี้ระบาดน้อยลง ยันยังไม่พบสายพันธุ์ใหม่ในไทย - ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค แนะประชาชนกำจัดลูกน้ำ - แหล่งเพาะพันธุ์ยุงทุก 7 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัด ขณะพบระบาดในเด็กวัยรุ่น-ผู้ใหญ่มากขึ้น ย้ำหากมีอาการของโรคให้รีบพบแพทย์ โดยด่วนเพื่อรักษาชีวิต - ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง
วันนี้ 11 พ.ย. 58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกในปีนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงขณะนี้ พบผู้ป่วยแล้วกว่า 100,000 ราย ขณะที่ในปี 2556 พบผู้ป่วย 150,000 ราย และในปี 2557 ลดลงประมาณ 40,000 ราย มักพบการระบาดปีเว้นปี กระทรวงสาธารณสุข จึงได้เตรียมการป้องกัน เตือนประชาชน โดยเฉพาะใน 10 จังหวัดที่เคยมีการระบาด เนื่องจากมีฝนตกเป็นระยะๆ เริ่มพบที่ภาคเหนือ และภาคกลาง เช่นที่ระยอง เพชรบุรี และกทม. จากการประเมินสถานการณ์สัปดาห์ที่ผ่านมา แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยแต่ละจังหวัดยังคงที่ มีบางพื้นที่ที่พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น
จากการตรวจประเมินลูกน้ำยุงลาย ยังพบตามภาชนะที่มีขังน้ำที่อยู่ตามบ้านเรือน วัด และโรงเรียนมีลูกน้ำยุงลาย และเกิดเป็นตัวยุง ได้กำชับให้สถานบริการในสังกัดและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกคน ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล รณรงค์ให้ทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ร่วมมือร่วมใจกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย ติดต่อกันทุกสัปดาห์ กำจัดขยะที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงสม่ำเสมอ เช่น ภาชนะต่างๆ ที่ไม่ใช้แล้วบริเวณรอบๆ บ้าน วัด โรงเรียน สถานที่สาธารณะ และภาชนะในบ้านเช่น แจกัน จานรองกระถางต้นไม้ ที่เก็บน้ำในห้องน้ำ และป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัด ด้วยการนอนในมุง สวมเสื้อแขนยาว ขายาว ใช้ยาทากันยุง กำจัดยุงตัวแก่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พบผู้ป่วย ขอให้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการพ่นหมอกควัน ควบคุมการระบาดของโรค
ทั้งนี้ โรคไข้เลือดออกที่พบในประเทศไทยเกิดจากไวรัสเดงกี่ (Dengue Haemorrhagic Fever) มี 4 สายพันธุ์ มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยุงตัวเมียซึ่งกัดเวลากลางวันและดูดเลือดคนเป็นอาหาร เมื่อกัดผู้ป่วยในระยะไข้สูงซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสเข้าไปอยู่ในตัวยุง ระยะฟักตัวในยุงประมาณ 8-12 วัน เมื่อยุงตัวมีเชื้อไปกัดคนจะปล่อยเชื้อไวรัสไปยังผู้ที่ถูกกัด มีระยะฟักตัวประมาณ 5-8 วัน ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคได้ ขณะนี้ยังไม่มีสายพันธุ์ใหม่ และไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด
ด้านนายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อาการผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกคือมีไข้สูงลอย คลื่นไส้ อาเจียนเป็นเลือด เบื่ออาหาร หน้าแดง มีจุดเลือดที่ผิวหนัง เลือดกำเดาไหล มีเลือดออกตามไรฟัน ขอให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคและรักษา หากเป็นไข้เลือดออกแล้ว ช่วงระยะไข้ลดลงในวันที่ 3-4 ของการป่วย หากผู้ป่วยมีอาการซึมลง กินอาหารดื่มน้ำไม่ได้ อาจเข้าสู่ภาวะช็อก ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิต
ทั้งนี้ ไข้เลือดออกพบในเด็กโต วัยรุ่น และผู้ใหญ่มากขึ้น รวมทั้งผู้สูงอายุพบได้ประมาณร้อยละ 20-40 เนื่องจากเชื้อไวรัสเดงกี่มี 4 สายพันธุ์ จึงมีโอกาสที่คนๆ หนึ่งจะติดเชื้อ 4 ครั้ง โดยทั่วไปการติดเชื้อครั้งแรก อาการจะไม่รุนแรงมาก แต่การติดเชื้อครั้งที่สองที่ต่างสายพันธุ์กันจะทำให้เกิดอาการรุนแรง ดังนั้นหากมีไข้สูงลอย ติดต่อกัน และไข้ไม่ลดลงภายใน 1-2 วัน ขอให้นึกถึงโรคไข้เลือดออกต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาอย่างทันท่วงที ประชาชนสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรคโทร. 1422
ที่มา:http://social.tnews.co.th/content/168460/
0 comments